อ่านเฉพาะบทความของบล็อคในรูปแบบพิเศษ ...
sidebar / flipcard / mosaic / snapshot / timeslide

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
พุทธศักราช 2476
--------------------------
ประชาธิปก ป.ร.
            พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
            โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เพื่อปฏิบัติการตามความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายอาชญาทหาร และเนื่องจากทหารบก ทหารเรือได้รวมเป็นกระทรวงเดียวกัน สมควรตราบทบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารเสียใหม่
            จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
---------
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476"

มาตรา 2(1) ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย ลงวันที่ 23 กันยายน พุทธศักราช 2464 กฎเสนาบดีว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ ลงวันที่ 11 กันยายน พุทธศักราช 2465 และบรรดากฎ ข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือ ซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้
หมวด 2
ว่าด้วยวินัย
--------
มาตรา 4 วินัยทหารนั้น คือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร
มาตรา 5 วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารมีดังต่อไปนี้
(1) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน
(2) ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
(3) ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
(4) ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
(5) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
(6) กล่าวคำเท็จ
(7) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
(8) ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามทษานุโทษ
(9) เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

มาตรา 6(1) ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้นโดยกวดขัน ถ้าหากว่าในการรักษาวินัยทหารนั้นจำเป็นต้องใช้อาวุธ เพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือในการนั้นจะไม่ต้องรับโทษในการที่ตนได้กระทำไปโดยความจำเป็นนั้นเลยแต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวนี้ผู้บังคับบัญชาจักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยเร็ว

มาตรา 7 ทหารผู้ใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฏในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการหรือถูกถอดจากยศทหาร

หมวด 3
อำนาจลงทัณฑ์
--------
มาตรา 8 ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารดังกล่าวไว้ในหมวด 2 นั้น ให้มีกำหนดเป็น 5 สถาน คือ
(1) ภาคทัณฑ์
(2) ทัณฑกรรม
(3) กัก
(4) ขัง
(5) จำขัง

มาตรา 9(2) ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดดังกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏหรือให้ทำทัณฑ์บนไว้
ทัณฑกรรมนั้น ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยาม นอกจากหน้าที่ประจำ
กัก คือกักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้
ขัง คือขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะได้มีคำสั่ง
จำขัง คือขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหารนอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์ อย่างอื่นเป็นอันขาด

มาตรา 10(3) ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาซึ่งลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดได้นั้น คือ
(1) ผู้บังคับบัญชา หรือ
(2) ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาตามที่กระทรวงกลาโหมส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ กำหนด
ในการที่จะลงทัณฑ์นั้น ให้กระทำได้แต่เฉพาะตามกำหนดในตาราง กำหนดทัณฑ์ท้ายพระราชบัญญัตินี้
ส่วนผู้มีอำนาจบังคับบัญชาชั้นใดจะมีอำนาจเป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้นใด และผู้อยู่ในบังคับบัญชาชั้นใดจะเป็นผู้รับทัณฑ์ชั้นใด ให้ถือเกณฑ์เทียบดังต่อไปนี้

ตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์*
ตำแหน่งชั้น
เป็นผู้ลง
ทัณฑ์ชั้น
เป็นผู้รับ
ทัณฑ์ชั้น
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
1
-
2. แม่ทัพ
2
-
3. ผู้บัญชาการกองพล , ผู้บังคับการกองเรือ , ผู้บัญชาการกองพลบิน
3
-
4. ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับกองบิน
4
5. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น 1
5
6. ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับหมู่เรือชั้น 2 ผู้บังคับการเรือ ชั้น 1 ผู้บังคับฝูงบิน
6
7. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น 3 ผู้บังคับการเรือชั้น 2 ต้นเรือชั้น 1 ผู้บังคับหมวดบินชั้น 1
7
8. ผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับการเรือชั้น 3 ต้นเรือชั้น 2 นายกราบเรือ ผู้บังคับหมวดบินชั้น 2
8
9. ผู้บังคับหมวด ต้นเรือชั้น 3 ผู้บังคับหมวดบินชั้น 3
9
10. ผู้บังคับหมู่ นายตอน
-
11. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็น นายทหารชั้นสัญญาบัตร
บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่าง เข้ารับการฝึกวิชาทหาร โดยคำสั่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม การฝึกวิชาทหาร
-
12. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ เป็นนายทหารประทวน ลูกแถว
-
มาตรา 11 ผู้ลงทัณฑ์ หรือรับทัณฑ์ ถ้าตำแหน่งไม่ตรงตามความในมาตรา 10 แห่งหมวดนี้แล้ว ให้ถือตามที่ได้เทียบตำแหน่งไว้ในข้อบังคับสำหรับทหาร

มาตรา 12 กำหนดอำนาจลงทัณฑ์ตามที่ตราไว้นี้ ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์สั่งลงทัณฑ์เต็มที่ได้สถานใดสถานหนึ่งแต่สถานเดียว ถ้าสั่งลงทัณฑ์ทั้งสองสถานพร้อมกัน ต้องกำหนดทัณฑ์ไว้เพียงกึ่งหนึ่งของอัตราในสถานนั้น ๆ ห้ามมิให้ลงทัณฑ์คราวเดียวมากกว่าสองสถาน

มาตรา 13 ก่อนที่ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์จะลงทัณฑ์ครั้งคราวใดก็ดีให้พิจารณาให้ถ้วนถี่แน่นอนว่า ผู้ที่จะต้องรับทัณฑ์นั้นมีความผิดจริงแล้ว จึงสั่งลงทัณฑ์นั้น ต้องระวังอย่าให้เป็นการลงทัณฑ์ไปโดยโทษจริต หรือลงทัณฑ์แก่ผู้ที่ไม่มีความผิดโดยชัดเจนนั้นเป็นอันขาด เมื่อพิจารณาความผิดละเอียดแล้วต้องชี้แจงให้ผู้กระทำผิดนั้นทราบว่ากระทำผิดในข้อใด เพราะเหตุใดแล้วจึงลงทัณฑ์

มาตรา 14(1) ถ้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาได้ลงทัณฑ์ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ต้องส่งรายงานการลงทัณฑ์นั้นเสนอตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มาตรา 15 เมื่อผู้มีอำนาจบังคับบัญชาได้ทราบว่า ผู้ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของตนมีความผิดจนปรากฏแน่นอนแล้ว แต่ความผิดนั้นควรรับทัณฑ์ที่เหนืออำนาจจะสั่งกระทำได้ ก็ให้รายงานชี้แจงความผิดนั้น ทั้งออกความเห็นว่าควรลงทัณฑ์เพียงใด เสนอตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้พอกับความผิดเพื่อขอให้ผู้นั้นสั่งการต่อไป

มาตรา 16(2) ถ้าเป็นความผิดซึ่งมีวิธีวางอัตรากำหนดทัณฑ์ไว้แน่นอนแล้ว เช่น ฐานขาดหนีราชการทหาร เป็นต้น หากกำหนดทัณฑ์นั้นเหนืออำนาจของผู้บังคับบัญชาที่จะสั่งลงทัณฑ์ได้ ก็ให้นำเสนอเพียงชั้นที่กล่าวต่อไปนี้
(1) ฝ่ายทหารบก ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตำแหน่งชั้นผู้บังคับการกรมหรือชั้นผู้บังคับกองพันที่อยู่ต่างท้องถิ่นกับผู้มีอำนาจบังคับบัญชาชั้นผู้บังคับการกรม
(2) ฝ่ายทหารเรือ ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตำแหน่งชั้นผู้บังคับหมวดเรือหรือชั้นผู้บังคับกองพันที่อยู่ต่างท้องถิ่นกับผู้มีอำนาจบังคับบัญชาชั้นผู้บังคับหมวดเรือ
(3) ฝ่ายทหารอากาศ ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตำแหน่งชั้นผู้บังคับกองบิน แม้ว่ากำหนดทัณฑ์นั้นจะเหนืออำนาจก็ดี ก็ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นที่กล่าวนี้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้ทีเดียว ไม่ต้องนำเสนอตามลำดับชั้นต่อไปอีก

มาตรา 17 นายทหารที่เป็นหัวหน้าทำการควบคุมทหารไปโดยลำพังให้มีอำนาจที่จะสั่งลงทัณฑ์ผู้อยู่ใต้อำนาจในระหว่างเวลาที่ควบคุมอยู่นั้นเสมอผู้มีอำนาจเหนือจากตำแหน่งของตนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งได้ เว้นแต่นายทหารซึ่งมีอำนาจเป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้น 2 ขึ้นไปจึงไม่ต้องเพิ่ม
มาตรา 18(1) ถ้าผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้สั่งลงทัณฑ์ผู้กระทำผิดในฐานขังแล้วและผู้ที่รับทัณฑ์ขังนั้นกระทำผิดซ้ำอีก ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์จะสั่งเพิ่มทัณฑ์ก็ให้พิจารณาดูกำหนดทัณฑ์ที่ได้สั่งไว้แต่เดิมนั้นก่อน ห้ามมิให้กำหนดเวลาให้ผู้ต้องถูกขัง ทั้งกำหนดเดิมและกำหนดที่เพิ่มใหม่รวมกันเกินกว่ากำหนดอำนาจของผู้สั่งลงทัณฑ์นั้นเป็นอันขาด หากผู้กระทำผิดนั้นควรต้องรับทัณฑ์เกินกว่ากำหนดอำนาจของผู้ที่จะสั่งลงทัณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ปฏิบัติการตามที่กล่าวไว้ในมาตรา 15 แห่งหมวดนี้

มาตรา 19 นับตั้งแต่วันที่ปรากฏหลักฐานแห่งความผิดของผู้กระทำผิดซึ่งจะต้องรับทัณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยแน่นอนแล้ว ถ้าผู้มีอำนาจลงทัณฑ์มิได้ดการที่จะให้ผู้นั้นได้รับทัณฑ์ภายในกำหนดสามเดือน เป็นอันนับว่าล่วงเลยเวลาที่จะลงทัณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้เสียแล้ว จะสั่งลงทัณฑ์โดยอำนาจตนเองมิได้ เว้นเสียแต่ผู้ที่กระทำผิดนั้นขาด หนีราชการเสียแต่เมื่อก่อนครบกำหนดสามเดือน จึงมิให้นับวันที่ขาด หนีนี้เข้าในกำหนดเวลาล่วงเลย ให้นับตั้งแต่วันที่ได้ตัวผู้นั้นกลับมายังที่รับราชการ

มาตรา 20 เมื่อผู้มีอำนาจได้สั่งลงทัณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้แล้วผู้ที่สั่งลงทัณฑ์ หรือผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือผู้ที่สั่งลงทัณฑ์นั้นมีอำนาจที่จะเพิ่มทัณฑ์ หรือลดทัณฑ์ หรือยกทัณฑ์เสียก็ได้ แต่ถ้าเพิ่มทัณฑ์แล้ว ทัณฑ์ที่สั่งเพิ่มขึ้นนั้นรวมกับที่สั่งไว้แล้วเดิม ต้องมิให้เกินอำนาจของผู้ที่สั่งใหม่นั้น

หมวด 4
วิธีร้องทุกข์
--------
มาตรา 21 ในการที่จะรักษาวินัยทหารให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ ย่อมเป็นการจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาจักต้องมีอำนาจในการบังคับบัญชาหรือลงทัณฑ์อยู่เองเป็นธรรมดา แต่ผู้บังคับบัญชาบางคนอาจใช้อำนาจในทางที่ผิดยุติธรรม ซึ่งเป็นการสมควรที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีโอกาสร้องทุกข์ได้ในทางเป็นระเบียบไม่ก้าวก่าย

มาตรา 22 คำชี้แจงของทหารว่า ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือผิดกฎหมาย หรือแบบธรรมเนียมทหารว่าตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการนั้น เรียกว่า "ร้องทุกข์"

มาตรา 23 ทหารจะร้องทุกข์ได้แต่สำหรับตนเองเท่านั้น ห้ามมิให้ร้องทุกข์แทนผู้อื่นเป็นอันขาด และห้ามมิให้ลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน และห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์

มาตรา 24 ห้ามมิให้ร้องทุกข์ในเวลาที่ตนกำลังเข้าแถว หรือในขณะที่กำลังทำหน้าที่ราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เวลาเป็นยาม เป็นเวรดังนี้เป็นต้น และห้ามมิให้ร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้วยี่สิบสี่ชั่วโมง นับตั้งแต่ ที่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์เกิดขึ้น

มาตรา 25 ห้ามมิให้ร้องทุกข์ว่า ผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไปถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชานั้นมิได้ลงทัณฑ์เกินอำนาจที่จะทำได้ตามความในหมวด 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 26 ถ้าจะกล่าวโทษผู้ใดให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้นั้น จะร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือจะเขียนเป็นหนังสือก็ได้ ถ้าผู้ร้องทุกข์มาร้องทุกข์ด้วยวาจา ให้ผู้รับการร้องทุกข์จดข้อความสำคัญของเรื่องที่ร้องทุกข์นั้น ให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานด้วย
ถ้าหากว่าผู้ร้องทุกข์ไม่ทราบชัดว่า ตนได้รับความเดือดร้อนเพราะผู้ใดแน่ ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอไปตามลำดับชั้นจนถึงที่สุด คือ ผู้ที่จะสั่งการไต่สวน และแก้ความเดือดร้อนนั้นได้

มาตรา 27 ถ้าเขียนความร้องทุกข์เป็นจดหมายแล้ว จดหมายนั้นต้องลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ใบร้องทุกข์ฉบับใดไม่มีลายมือชื่อ ผู้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่จะต้องพิจารณา

มาตรา 28 เมื่อผู้ใดได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบที่ว่ามานี้แล้ว และเวลาล่วงพ้นไปสิบห้าวันยังไม่ได้รับความชี้แจงประการใดทั้งความเดือดร้อนก็ยังไม่ได้ปลดเปลื้องไป ให้ร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นที่สูงถัดขึ้นไปเป็นลำดับอีก และในการร้องทุกข์ครั้งนี้ให้ชี้แจงด้วยว่าได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นใดมาแล้วแต่เมื่อใด

มาตรา 29 ถ้าผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องร้องทุกข์เมื่อใด ต้องรีบไต่สวนและจัดการแก้ไขความเดือดร้อน หรือชี้แจงให้ผู้ยื่นใบร้องทุกข์เข้าใจจะเพิกเฉยเสียไม่ได้เป็นอันขาด ผู้ใดเพิกเฉยนับว่ากระทำผิดต่อวินัยทหาร

มาตรา 30 ถ้าผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ได้ชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องทุกข์ยังไม่หมดความสงสัย ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้ และต้องชี้แจงด้วยว่าได้ร้องทุกข์นี้ต่อผู้ใดและได้รับคำชี้แจงอย่างไรแล้วด้วย

มาตรา 31 ถ้าหากปรากฏชัดว่า ข้อความที่ร้องทุกข์เป็นความเท็จหรือการร้องทุกข์นั้นกระทำไปโดยผิดระเบียบที่กล่าวมา ผู้ร้องทุกข์จะต้องมีวามผิดฐานกระทำผิดต่อวินัยทหาร

มาตรา 32 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
ประกาศมา ณ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 [รก.2477/-/585/23 กันยายน 2477]

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหารแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2477 (ฉบับที่ 2) [รก.2478/-/1/7 เมษายน 2478]

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2480 [รก.2480/-/1824/14 มีนาคม 2480]

พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2505
หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 ได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารซึ่งมีอำนาจลงทัณฑ์ก็ดี ตำแหน่งผู้รับทัณฑ์ก็ดี ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติาด้วยวินัยทหาร พุทธศักราช 2476 เพื่อให้ตำแหน่งดังกล่าวถูกต้องตรงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
[รก.2505/105/1217/27 พฤศจิกายน 2505]



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น