อ่านเฉพาะบทความของบล็อคในรูปแบบพิเศษ ...
sidebar / flipcard / mosaic / snapshot / timeslide

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติ 
จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
 
พ.ศ. 2503
__________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. 
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2503
 
เป็นปีที่ 15 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2503/19/127/15 มีนาคม 2503]
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2500
บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 4 กระทรวงกลาโหมมีอำนาจและหนัาที่เกี่ยวกับการปัองกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยจัดให้มีกำลังทหารไว้เพื่อการรบหรือการสงคราม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อการปราบปรามการกบฏและการจลาจล เพื่อช่วยการพัฒนาประเทศ และเพื่อรักษาประโยชน์ของชาติในประการอื่นตามที่กฏหมายกำหนด ตลอคจนดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร เพื่อประโยชน์ในการปัองกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรและรักษาประโยชน์ของชาติด้วย การใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติการตามความในวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจลให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
[มาตรา 4 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2543 มาตรา]
ราชการกระทรวงกลาโหมให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบแบบแผน
มาตรา 5 กระทรวงกลาโหมอาจตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อกระทำการหรือพิจารณาหรือสอบสวนกรณีใด ๆ เกี่ยวกับราชการกระทรวงกลาโหม แล้วรายงานต่อกระทรวงกลาโหมได้
มาตรา 6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหม และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้
ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ และการปฏิบัติราชการประจำ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้
อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ หรือการปฏิบัติหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใด ๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจ โดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้บัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
[มาตรา 6 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 มาตรา 4]
มาตรา 6 ทวิ อำนาจในการสั่ง การอนุญาต การให้อนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการประจำ ที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใด ซึ่งรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมายใด ๆ จะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 7 ในตำแหน่งประจำใด ๆ ให้ผู้รักษาราชการ ผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ทำการแทน มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาราชการรักษาราชการแทน หรือทำการแทนนั้น ๆ
มาตรา 8 กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการ ดังนี้ 
(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
 
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
 
(3) กรมราชองครักษ์
 
(4) กองบัญชาการทหารสูงสุด
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536]
มาตรา 9 สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
มาตรา 10 สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวง มีปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
นอกจากนี้สำนักงานปลัดกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนหนึ่งส่วนใดของกระทรวงซึ่งมิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการอื่นอีกด้วย
มาตรา 10 ทวิ กรมราชองครักษ์มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยราชองครักษ์ และกฎหมายว่าด้วยนายตำรวจราชสำนัก มีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536]
มาตรา 11 กองบัญชาการทหารสูงสุด มีหน้าที่เตรียมกำลังรบและป้องกันราชอาณาจักร มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
มาตรา 12 กองบัญชาการทหารสูงสุดอาจตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือบุคคลใดเพื่อพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับแผนเพื่อรักษาเอกราชและประโยชน์แห่งประเทศชาติได้
มาตรา 13 กองบัญชาการทหารสูงสุดมีส่วนราชการ ดังนี้ 
(1) กองทัพบก
 
(2) กองทัพเรือ
 
(3) กองทัพอากาศ
 
(4) ส่วนราชการอื่น ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 14 กองทัพบก มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพบกและป้องกันราชอาณาจักร มีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
มาตรา 15 กองทัพเรือ มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือและป้องกันราชอาณาจักร มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
มาตรา 16 กองทัพอากาศ มีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศและป้องกันราชอาณาจักร มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
มาตรา 17 ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กรมราชองครักษ์กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เป็นนิติบุคคล
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536]
มาตรา 18 การแบ่งส่วนราชการกระทรวงกลาโหมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 และการแบ่งส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดตามที่กำหนดไว้ใน (1) (2) และ (3) ของมาตรา 13 ออกเป็นส่วนราชการส่วนใหญ่ถัดลงไป และการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
การแบ่งส่วนราชการอื่น นอกจากที่กล่าวไว้ในวรรคก่อน และการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
มาตรา 19 ให้มี "สภากลาโหม" ประกอบด้วยสมาชิกดังต่อไปนี้ 
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
 
(2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
 
(3) จเรทหารทั่วไป
 
(4) ปลัดกระทรวงกลาโหม
 
(5) รองปลัดกระทรวงกลาโหม
 
(6) สมุหราชองครักษ์
 
(7) รองสมุหราชองครักษ์ (อัตราจอมพล จอมพลเรือ หรือจอมพลอากาศ
 
(8) เสนาธิการกรมราชองครักษ์
 
(9) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
 
(10)รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
 
(11) เสนาธิการทหาร
 
(12) ผู้บัญชาการทหารบก
 
(13) รองผู้บัญชาการทหารบก
 
(14) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
 
(15) เสนาธิการทหารบก
 
(16) ผู้บัญชาการทหารเรือ
 
(17) รองผู้บัญชาการทหารเรือ
 
(18) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ
 
(19) เสนาธิการทหารเรือ
 
(20) ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
 
(21) ผู้บัญชาการทหารอากาศ
 
(22) รองผู้บัญชาการทหารอากาศ
 
(23) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ
 
(24) เสนาธิการทหารอากาศ
 
(25) ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ

(26)นายทหารยศชั้นนายพลขึ้นไป ผู้เคยดำรงตำแหน่ง หรือมีความดีความชอบในราชการทหารมาแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะได้แต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามนายโดยความเห็นชอบของที่ประชุมสามชิกสภากลาโหมตาม (1) ถึง (25)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเชิญบุคคลอื่นเข้าชี้แจงต่อสภากลาโหมเฉพาะเรื่องใดก็ได้
[แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 มาตรา 5]
มาตรา 19 ทวิ สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 19 (26) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระ
ในกรณีสมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 19 (26) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาจแต่งตั้งผู้อื่นแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของสมาชิกซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
[แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 มาตรา 6]
มาตรา 19 ตรี นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ สมาชิกสภากลาโหมตามมาตรา 19 (26) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 
(1) ตาย
 
(2) ลาออก
 
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
 
(4) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
 
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(6) สมาชิกสภากลาโหมมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากการะทำการหรือมีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภากลาโหม
[แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 มาตรา 6]
มาตรา 20 ในสภากลาโหม ให้ 
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
 
(2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธาน
 
(3) ผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงกลาโหมซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดเป็นเลขาธิการและรองเลขาธิการ
 ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมมากกว่าหนึ่งคน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกคำสั่งแต่งตั้งให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง รองประธานคนที่สอง และรองประธานคนที่สาม ตามลำดับ
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 20 ทวิ สภากลาโหมมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 21 ในการดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องต่อไปนี้ ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม 
(1) นโยบายการทหารทั่วไป
 
(2) นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อช่วยเหลือราชการทหาร
 
(3) นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม
 
(4) การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม
 
(5) การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
 
(6) เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนด
 [แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 22 การประชุมสภากลาโหมให้เป็นไปตามคำสั่งของประธานสภากลาโหม หรือเมื่อสมาชิกสภากลาโหมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมดร้องขอให้มีการประชุม
องค์ประชุมสภากลาโหมแต่ละครั้งจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภากลาโหมทั้งหมด
ประธานสภากลาโหมเป็นประธานของที่ประชุม แต่ถ้าประธานสภากลาโหมไม่อยู่ในที่ประชุมให้รองประธานสภากลาโหมเป็นประธานของที่ประชุมแทน โดยพิจารณาตามลำดับที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 20 แต่ถ้าทั้งประธานสภากลาโหมและรองประธานสภากลาโหมไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกสภากลาโหมซึ่งอาวุโสสูงสุดตามระเบียบแบบแผนของกระทรวงกลาโหมทำหน้าที่ประธานของที่ประชุมแทนต่อไปตามลำดับ
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 22 ทวิ มติของสภากลาโหมนั้น ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงกลาโหมถือปฏิบัติ
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 23 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมมีอำนาจกำหนดพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นยุทธบริเวณและหรือเขตภายในได้
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 24 เมื่อปรากฏว่าจะมีการรบ หรือสถานะสงครามหรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม มีอำนาจกำหนดส่วนราชการในกระทรวงกลาโหมและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ตลอดจนกำหนดอำนาจและหน้าที่ของส่วนราชการและเจ้าหน้าที่นั้น ๆ ขึ้นใหม่ได้ตามความเหมาะสม
เมื่อหมดภาวะการรบหรือสถานะสงคราม หรือเลิกใช้กฎอัยการศึก แล้วแต่กรณี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยความเห็นชอบของสภากลาโหมพิจารณาสั่งเลิกส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดและแต่งตั้งขึ้นตามความในมาตรานี้
[แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528]
มาตรา 25 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ส.ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ปรับปรุงอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมลงไปให้แน่ชัด และจัดระเบียบการใช้กำลังทหารให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ของโลก

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้ตั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพิ่มขึ้น และเห็นสมควรให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดนี้เป็นสมาชิกสภากลาโหมด้วย แต่ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้มิได้มีระบุไว้ให้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นสมาชิกสภากลาโหมได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมเสียใหม่
[รก.2507/38/282/28 เมษายน 2507]

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 157 ลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2515
โดยที่คณะปฏิวัติพิจารณาเห็นสมควรให้ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใด ซึ่งรองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบอำนาจในการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการตามกฎหมายใด ๆ ให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่น ทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจได้ เพื่อให้การปฏิบัติราชการของกระทรวงกลาโหมเป็นผลดียิ่งขึ้น หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดั่งต่อไปนี้
[รก.2515/89/8พ./6 มิถุนายน 2515]

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2519
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันนี้ ในการทำการรบหรือการสงคราม มิได้มีการใช้กำลังทหารของต่างประเทศเข้าทำการรบหรือการสงครามรุกรานกันโดยเปิดเผยตามแบบธรรมเนียมของการสงครามแต่อย่างเดียวอย่างแต่ก่อน แต่จะกระทำการโดยอาศัยการแทรกซึม การบ่อนทำลายและการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ให้สอดคล้องกับวิธีการทำการรบและการสงครามในปัจจุบัน เพื่อให้กระทรวงกลาโหมสามารถดำเนินการป้องกันภัยอันเกิดจากการรุกรานของต่างประเทศได้โดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และโดยที่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 เกี่ยวกับการรักษาราชการแทนและการมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่ยังไม่เหมาะสม ตลอดจนขณะนี้ได้มีการยกเลิกตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการไปแล้ว แต่บทบัญญัติบางมาตราแห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 ยังได้อ้างถึงอยู่ สมควรแก้ไขให้เหมาะสม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น
[รก.2519/156/22พ./24 ธันวาคม 2519]

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมเสียใหม่ ให้เป็นไปตามหลักการบริหารและเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้
[รก.2528/120/4พ./5 กันยายน 2528]

พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2536
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติการปราบปรามการจลาจลเป็นภารกิจสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต่าง ๆ และมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การสั่งใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้การใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามการจลาจลเป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และนอกจากนี้เพื่อให้กรมราชองครักษ์สามารถปฏิบัติภารกิจต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้กรมราชองครักษ์เป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมและมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยราชองครักษ์และกฎหมายว่าด้วยนายตำรวจราชสำนัก รวมทั้งกำหนดให้สมุหราชองครักษ์และรองสมุหราชองครักษ์เป็นสมาชิกสภากลาโหม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2536/112/1พ./16 สิงหาคม 2536]


และนี่คือฉบับปัจจุบัน  พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551  

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น