อ่านเฉพาะบทความของบล็อคในรูปแบบพิเศษ ...
sidebar / flipcard / mosaic / snapshot / timeslide

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


(สำเนา) 
ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม 
ว่าด้วยสารวัตรทหาร 
พ.ศ.๒๕๕๕
 _____________________ 

 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงออกข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.๒๕๕๕”

ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิก
๓.๑ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.๒๕๑๙
๓.๒ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๑
๓.๓ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๙
บรรดาข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่ได้กำหนดไว้แล้วในข้อบังคับนี้ หรือซึ่งขัดหรือ แย้งกับข้อบังคับนี้ ให้ใช้ข้อบังคับนี้แทน

ข้อ ๔ ในข้อบังคับนี้
๔.๑ คำว่า “ทหารสารวัตร” หมายถึง ทหารเหล่าทหารสารวัตรที่บรรจุในอัตรากำลังของหน่วยต่าง ๆ
๔.๒ คำว่า “สารวัตรทหาร” หมายถึง ทหารสารวัตรหรือทหารเหล่าอื่นหรือพรรคอื่น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สารวัตรทหารตามคำสั่งของผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหาร
๔.๓ คำว่า “ผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหาร”หมายถึง ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารที่มีทหารสารวัตรอยู่ในบังคับบัญชา หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดสารวัตรทหารตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศกำหนด ในกรณีไม่มีทหารสารวัตรอยู่ในบังคับบัญชา เป็นผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารได้ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือตามอำนาจที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือแบบธรรมเนียมของทหาร

ข้อ ๕ สารวัตรทหารให้จัดจากทหารสารวัตร ในกรณีไม่มีทหารสารวัตรบรรจุอยู่ในอัตรากำลังของหน่วยหรือในเหล่าทัพใด ให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดสารวัตรทหารตามที่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กำหนด จัดทหารเหล่าอื่นหรือพรรคอื่นเป็นสารวัตรทหารได้

ข้อ ๖ การแต่งกายของสารวัตรทหารในขณะปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับและแบบธรรมเนียมของทหารที่ว่าด้วยการนั้น

ข้อ ๗ เพื่อให้การรักษาระเบียบวินัยดำเนินไปโดยเคร่งครัดรวมถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีให้สารวัตรทหารมีหน้าที่ดังนี้
๗.๑ สอดส่องตรวจตราให้ทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ในระเบียบวินัยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี
๗.๒ ว่ากล่าวตักเตือนและจับกุมทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่กระทำความผิด
๗.๓ สืบสวนสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร
๗.๔ ควบคุมการจราจรในกิจการทหาร
๗.๕ รักษาความปลอดภัยทางวัตถุและอารักขาบุคคลสำคัญ
๗.๖ ปฏิบัติการเกี่ยวกับการเรือนจำทหาร และเชลยศึก ทหารผลัดหน่วย พลเรือน ผู้ถูกกักกันในยามสงคราม ตามที่กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
๗.๗ กำหนดมาตรการป้องกันอาชญากรรมในวงการทหาร
๗.๘ หน้าที่อื่นตามที่กระทรวงกลาโหมหรือผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารจะกำหนด

ข้อ ๘ สารวัตรทหารมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารได้ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

ข้อ ๙ สารวัตรทหารมีอำนาจที่จะปฏิบัติต่อทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมผู้ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีซึ่งอยู่ภายนอกที่ตั้งหน่วยทหารหรือสถานที่ทำงานตามควรแก่กรณีดังนี้
๙.๑ ว่ากล่าวตักเตือน
๙.๒ จับกุม
๙.๓ ตรวจค้นผู้ถูกจับกุมเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของที่ผิดกฎหมายหรือเพื่อใช้ในการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าผู้ถูกจับกุมเป็นหญิงให้สารวัตรทหารหญิงหรือหญิงอื่นเป็นผู้ตรวจค้น
๙.๔ ยึดสิ่งของตามข้อ ๘.๓ หรือ สิ่งของที่อาจเป็นภัยอันตรายหรือที่ใช้เป็นพยานหลักฐานในการกระทำผิดนั้นได้

ข้อ ๑๐ ในการจับกุม สารวัตรทหารต้องแจ้งเหตุที่จะจับกุมให้ผู้จะต้องถูกจับกุมทราบ การจับกุมให้กระทำโดยละม่อม ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เครื่องพันธนาการหรือใช้อาวุธเพื่อป้องกันตนก็ให้กระทำได้แต่ต้องไม่เกินสมควรแก่เหตุ

ข้อ ๑๑ เมื่อสารวัตรทหารจับกุมผู้ใดแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้
๑๑.๑ รายงานให้ผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารทราบโดยเร็ว
๑๑.๒ ผู้ถูกจับกุมสังกัดอยู่ในหน่วยทหารที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของหน่วยสารวัตรทหารที่จับกุมให้นำตัวผู้ถูกจับกุมส่งหน่วยทหารต้นสังกัดของผู้นั้น หรือรีบแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกจับกุมทราบโดยเร็วเพื่อรับตัวไป ในกรณีนี้ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายไปรับตัวผู้ถูกจับกุมนั้นโดยเร็ว และต้องไม่เกินกว่า ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง
๑๑.๓ ผู้ถูกจับกุมสังกัดอยู่ในหน่วยทหารที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของหน่วยสารวัตรทหารที่จับกุม ให้รีบแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกจับกุมทราบโดยเร็วเพื่อรับตัวไป ในกรณีนี้ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายไปรับตัวผู้ถูกจับกุมนั้นโดยเร็ว และต้องไม่เกินกว่า ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
๑๑.๔ ในระหว่างที่ยังไม่มีการรับตัวให้สารวัตรทหารควบคุมหรือจัดการเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกจับกุมหลบหนี

ข้อ ๑๒ ในเขตพื้นที่ใดมีหน่วยทหารต่างเหล่าทัพตั้งอยู่เมื่อเห็นเป็นการสมควรผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหารในเขตพื้นที่นั้นอาจจัดสารวัตรทหารร่วมขึ้นปฏิบัติภารกิจในบังคับบัญชาของนายทหารเหล่าทัพใดก็ได้ทั้งนี้ให้ทำความตกลงกันเป็นหนังสือ

ข้อ ๑๓ สารวัตรทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ ต่อบุคคลอื่นนอกจากทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือน และคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหมซึ่งกระทำความผิด เว้นแต่จะได้รับการร้องขอจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้ร่วมมือด้วยในเหตุผลอันสมควร หรือเป็นการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ ๑๔ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ออกระเบียบปลีกย่อยเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้ได้

 ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ (((
 (ลงชื่อ) พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต 
 ( สุกำพล สุวรรณทัต ) 
 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

หมายเหตุ:- หลักการและเหตุผลในการประกาศใช้ระเบียบฉบับนี้ คือ ปรับปรุงข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.๒๕๑๙ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๐๔) และมาตรา ๑๗ (๑) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงชื่อส่วนราชการจากเดิม “กองบัญชาการทหารสูงสุด” เป็น “กองบัญชาการกองทัพไทย” และตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ลับ ที่ ๓๓/๕๓ ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เรื่อง แก้อัตราเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม (ส่วนกลาง) และคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม(เฉพาะ) ลับ ที่ ๔๓/๕๓ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์๒๕๕๓ เรื่อง แก้อัตราเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหม (ส่วนกลาง)ที่กำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการจัดและการสั่งใช้สารวัตรทหาร รวมทั้งสามารถออกระเบียบปลีกย่อย เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามข้อบังคับและเป็นแนวทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องออกข้อบังคับนี้