อ่านเฉพาะบทความของบล็อคในรูปแบบพิเศษ ...
sidebar / flipcard / mosaic / snapshot / timeslide

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พระราชบัญญัติ
เรือนจำทหาร
พุทธศักราช ๒๔๗๙

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘)
อาทิตย์ ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙
เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน



โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรจัดการเรือนจำฝ่ายทหารเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่กาลสมัย
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเรือนจำทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙”



มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ตั้งแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้เป็นต้นไป ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรือนจำทหารเสียทั้งสิ้น

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
(๑) “เรือนจำ” หมายความว่า ที่ซึ่งรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นเรือนจำของทหาร
(๒) “ผู้ต้องขัง” หมายความรวมตลอดถึง นักโทษ คนต้องขัง และคนฝาก
(ก) “นักโทษ” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด
(ข) “คนต้องขัง” หมายความว่า บุคคลที่ถูกขังไว้ตามหมายขัง
(ค) “คนฝาก” หมายความว่า บุคคลที่ถูกฝากให้ควบคุมไว้ในเรือนจำของทหาร
(๓) “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดอำนาจและหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาเรือนจำ และเจ้าพนักงานเรือนจำตลอดจนเงื่อนไขที่จะปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่นั้น

มาตรา ๖ เจ้าพนักงานเรือนจำจะรับบุคคลใดไว้เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำได้ต่อเมื่อได้รับหมายของศาลทหาร หรือหมายขังของผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ หรือเอกสารอันเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ

มาตรา ๗ การย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำของทหารไปเรือนจำของฝ่ายพลเรือนหรือย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำของฝ่ายพลเรือนมาเรือนจำของฝ่ายทหารนั้น ให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างรัฐมนตรีในพระราชบัญญัตินี้ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงซึ่งบังคับบัญชาการราชทัณฑ์
ผู้ต้องขังที่ถูกย้ายดังกล่าวแล้ว ให้มีฐานะอย่างเดียวกับผู้ต้องขังในเรือนจำที่เข้าไปอยู่ใหม่

มาตรา ๘ ผู้ต้องขังต้องอยู่ในบังคับกฎหมายเช่นเดียวกับทหารกองประจำการ

มาตรา ๙ เมื่อผู้ต้องขังคนใดกระทำความผิด ซึ่งมีลักษณะอย่างที่ผู้บังคับบัญชาทหารจะลงทัณฑ์ทางวินัยแก่ทหารผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ก็ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำสั่งลงทัณฑ์ทางวินัยตามมาตรา ๑๐ ได้ภายในเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด
นอกจากนั้น ความผิดฐานประทุษร้ายแก่ทรัพย์ของเรือนจำอันเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ดี ฐานพยายามจะหลบหนีก็ดี ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในวรรคก่อน

มาตรา ๑๐ ทัณฑ์ทางวินัยที่จะลงแก่ผู้ต้องขังนั้น มีดังนี้
(๑) ภาคทัณฑ์
(๒) งดหรือลดสิทธิต่าง ๆ โดยมีกำหนดเวลา
(๓) ขังเดี่ยวไม่เกินสามเดือน

มาตรา ๑๑ ห้ามใช้เครื่องพันธนาการแก่ผู้ต้องขัง เว้นแต่
(๑) เป็นบุคคลที่น่าจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น
(๒) เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบอันอาจเป็นภยันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
(๓) เป็นบุคคลที่น่าจะพยายามหลบหนีการควบคุม
(๔) เมื่อถูกคุมตัวไปนอกเรือนจำ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ควบคุมเห็นเป็นการสมควรที่จะต้องใช้เครื่องพันธนาการ
(๕) เมื่อเป็นการสมควรจะต้องใช้เครื่องพันธนาการ เนื่องแต่สภาพของเรือนจำ สภาพของเหตุการณ์ หรือสภาพการณ์ของท้องถิ่น

มาตรา ๑๒ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้หรือสั่งให้ใช้อาวุธแก่ผู้ต้องขังได้ภายในบังคับดังนี้
(ก) ใช้อาวุธอื่นนอกจากอาวุธปืน ในกรณี
(๑) เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องขังกำลังหลบหนี หรือพยายามจะหลบหนี และไม่มีทางจะป้องกันอย่างอื่นนอกจากใช้อาวุธ
(๒) เมื่อผู้ต้องขังก่อการวุ่นวาย หรือพยายามใช้กำลังเปิด หรือทำลายส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือนจำ
(๓) เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องขังจะทำร้ายเจ้าพนักงานหรือผู้อื่น
(ข) ใช้อาวุธปืน ในกรณี
(๑) ผู้ต้องขังไม่ยอมวางอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้วาง
(๒) ผู้ต้องขังที่กำลังหลบหนีไม่ยอมหยุด ในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดและไม่มีทางอื่นที่จะจับกุมได้
(๓) ผู้ต้องขังตั้งแต่สามคนขึ้นไป ก่อการวุ่นวายหรือพยายามใช้กำลังเปิดหรือทำลายส่วนหนึ่งส่วนใดของเรือนจำ หรือทำร้ายเจ้าพนักงาน หรือผู้อื่น และไม่ยอมหยุดในเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุด
อนึ่ง ในการจับกุมผู้หลบหนีภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่หนีไป เจ้าพนักงานเรือนจำอาจใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้โดยอนุโลม

มาตรา ๑๓ ถ้าผู้ต้องขังได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือถึงตายในขณะช่วยเหลือเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ก็ดี ในขณะทำการตามหน้าที่ของตนอันอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยหรือชีวิตของผู้ต้องขังก็ดี ถ้าเป็นนักโทษ ก็ให้ได้รับสิทธิหรือประโยชน์ตามมาตรา ๑๔ โดยควรแก่พฤติการณ์ หรือถ้าเป็นผู้ต้องขังอื่น รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขให้รางวัลเป็นจำนวนตามสมควรก็ได้
ถ้าประโยชน์นั้นเป็นรางวัล เมื่อผู้ต้องขังตาย ให้จ่ายแก่ผู้รับมรดก

มาตรา ๑๔ นักโทษคนใดมีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษาและการงานเกิดผลดีหรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับประโยชน์อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ได้รับความสะดวกเป็นพิเศษในเรือนจำตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้
(๒) เลื่อนชั้น
(๓) ตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ
(๔) ลาไม่เกิน ๔ วันในคราวหนึ่ง โดยไม่รวมเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางเข้าด้วย เมื่อมีความจำเป็นอย่างประจักษ์เกี่ยวด้วยกิจธุระสำคัญ หรือกิจการในครอบครัว แต่ห้ามมิให้ออกไปนอกราชอาณาจักรสยาม และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้ลานี้มิให้หักออกจากการคำนวณกำหนดโทษ
(๕) พักการลงโทษภายในเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด
แต่การพักลงโทษนี้ จะพึงกระทำได้ต่อเมื่อนักโทษได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษที่ต้องรับ ถ้าเป็นกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี
ทั้งนี้ให้วางเงื่อนไขที่นักโทษผู้ได้รับการพักลงโทษจะต้องปฏิบัติ ให้มีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เว้นแต่กำหนดโทษที่ต้องรับต่อไปเหลือน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้กำหนดเงื่อนไขเท่าระยะเวลาที่เหลือนั้น
นักโทษที่ได้รับอนุญาตให้ลา หรือพักการลงโทษนั้น ไม่พ้นจากฐานะเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๕ นักโทษที่ได้รับอนุญาตให้ลาก็ดี หรือได้รับการพักลงโทษก็ดี ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งรัฐมนตรีกำหนด นักโทษผู้นั้นอาจถูกจับโดยไม่ต้องมีหมายนำเข้าจำคุกต่อไปตามกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่ กับอาจถูกลงทัณฑ์ทางวินัยอีกโสดหนึ่งด้วย
ถ้าระหว่างการพักลงโทษ นักโทษผู้นั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษเพราะกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งมิใช่ความผิดฐานลหุโทษหรือประมาท ให้เพิกถอนการพักลงโทษเสีย และให้จับตัวนักโทษผู้นั้นโดยไม่ต้องมีหมายนำเข้าจำคุกต่อไปตามกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่ กับอาจลงทัณฑ์ทางวินัยอีกโสดหนึ่งด้วยก็ได้

มาตรา ๑๖ ในกรณีเหตุฉุกเฉินอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง ถ้าเจ้าพนักงานเรือนจำไม่สามารถจะย้ายผู้ต้องขังไปควบคุมไว้ ณ ที่อื่นได้ทันท่วงที จะปล่อยผู้ต้องขังไปชั่วคราวก็ได้ แต่ผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยไปนั้นต้องกลับเรือนจำหรือไปรายงานตนยังที่ตั้งหน่วยทหาร หรือที่ว่าการอำเภอภายในกำหนดยี่สิบสี่ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่ปล่อยไป และต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ ถ้าผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยไปละเลยไม่ปฏิบัติดังกล่าวนี้ ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีการควบคุม

มาตรา ๑๗ เมื่อแพทย์ฝ่ายทหารได้ยื่นรายงานแสดงความเห็นว่าผู้ต้องขังคนใดป่วยเจ็บ และถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น รัฐมนตรีจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังคนนั้นไปรักษาตัวในสถานที่อื่นใดนอกเรือนจำโดยมีเงื่อนไขอย่างใดแล้วแต่จะเห็นสมควรก็ได้
ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคก่อน มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากฐานะคุมขังในเรือนจำ และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปรักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีการควบคุม

มาตรา ๑๘ ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยการร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร และการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา หรือลดโทษตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ต้องขังยังมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องราวใด ๆ ต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำรัฐมนตรี หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๑๙ ทรัพย์สินซึ่งผู้ต้องขังนำเข้ามาหรือเก็บรักษาไว้ในเรือนจำโดยมิได้รับอนุญาตเพื่อการนั้นโดยชอบจากเจ้าพนักงานเรือนจำ ถ้าเป็นสิ่งต้องห้ามตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำริบเป็นของแผ่นดิน ถ้าเป็นสิ่งมีสภาพเป็นของสดเสียได้ หรือเป็นของอันตรายหรือโสโครก ให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำสั่งทำลายได้
สิ่งของอันจะเก็บรักษาไว้ในเรือนจำไม่ได้เนื่องจากขนาด น้ำหนัก หรือสภาพและผู้ต้องขังไม่สามารถจะฝากไว้แก่ผู้อื่นได้ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำอาจสั่งให้ทำลายหรือขายทอดตลาดเสียได้
เงินจำนวนสุทธิที่ขายทอดตลาดได้ให้เก็บไว้ให้แก่ผู้ต้องขัง

มาตรา ๒๐ ทรัพย์สินของผู้ต้องขังที่ตกค้างอยู่ในเรือนจำ ให้ผู้บังคับบัญชาเรือนจำสั่งริบเป็นของแผ่นดินได้ ในกรณีต่อไปนี้
(๑) ผู้ต้องขังหลบหนีพ้นกำหนดสามเดือน นับจากวันหลบหนี
(๒) ผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวแล้วไม่รับทรัพย์สินหรือรางวัลของตนไปภายในกำหนดหนึ่งปี นับจากวันปล่อยตัว

มาตรา ๒๑ นักโทษที่ถูกปล่อยให้พ้นโทษไปนั้น มีสิทธิได้รับใบสำคัญในการปล่อย

มาตรา ๒๒ ให้นำบทบัญญัติในภาค ๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ มาใช้บังคับแก่ผู้ต้องคำพิพากษาของศาลทหารด้วยโดยอนุโลม โดยให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำ และพัศดี ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาเรือนจำ และเจ้าพนักงานเรือนจำตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๒๓ ผู้ใดเข้าไปในเรือนจำโดยมิได้รับอนุญาต หรือรับจากหรือมอบแก่ผู้ต้องขังนำเข้ามาหรือออกไปจากเรือนจำซึ่งเงินหรือสิ่งของต้องห้ามโดยทางใด ๆ อันฝ่าฝืนข้อบังคับของเรือนจำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำผิดเป็นผู้บังคับบัญชาเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำ ให้เพิ่มโทษเป็นทวีคูณ
เงินและสิ่งของต้องห้ามที่นำเข้ามาในเรือนจำโดยฝ่าฝืนมาตรานี้ ให้ริบเป็นของแผ่นดิน

มาตรา ๒๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้และมีอำนาจออกข้อบังคับ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พ.อ. พหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี


พระราชบัญญัติเรือนจำทหาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ต้องคำพิพากษาของศาลทหารในยามปกติให้ประหารชีวิตนั้น มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติเรือนจำทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ บัญญัติให้ขอพระราชทานอภัยโทษภายในเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงเท่านั้น เป็นเวลากระชั้นชิดเกินไป ซึ่งผู้ต้องคำพิพากษาไม่มีเวลาจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ทัน จึงสมควรที่จะได้แก้ไขโดยถือหลักเช่นเดียวกับ มาตรา ๒๖๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือให้ประหารชีวิต เมื่อพ้นหกสิบวันแล้ว ทั้งนี้เพื่อความเสมอภาค


พระราชบัญญัติเรือนจำทหาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามมิให้กระทำการทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม แต่ทัณฑ์ทางวินัยบางประการที่จะลงแก่ผู้ต้องขังตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติเรือนจำทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๙ มีลักษณะเป็นการกระทำการทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น