อ่านเฉพาะบทความของบล็อคในรูปแบบพิเศษ ...
sidebar / flipcard / mosaic / snapshot / timeslide

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

(สำเนา)
รบ ๓๐๑
ระเบียบกองทัพบก
ว่าด้วยการสารวัตรทหาร
พ.ศ.๒๕๒๙
------------------
            เพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.๒๕๑๙ ซึ่งกำหนดให้ กองทัพบกออกระเบียบ หรือคำสั่ง ปลีกย่อยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสารวัตรทหาร อีกทั้งเพื่อปรับปรุงและรวบรวมการในหน้าที่ของสารวัตรทหาร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในระเบียบและคำสั่งต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน และเป็นมาตราฐานในอันที่จะทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้.-            ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า    " ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการสารวัตรทหาร พ.ศ.๒๕๒๙ "
            ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
            ข้อ ๓ บรรดาความใน ระเบียบ คำสั่ง หรือคำชี้แจงกองทัพบกใด ในส่วนที่นำมากำหนดไว้ในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ความในระเบียบนี้แทน 
ตอนที่ ๑
กล่าวทั่วไป
           ข้อ ๔ คำจำกัดความ ในระเบียบนี้
                       ๔.๑ การสารวัตรทหาร   หมายถึง การปฏิบัติหน้าที่ของสารวัตรทหารทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยสารวัตรทหาร พ.ศ.๒๕๑๙
                      ๔.๒ ฝ่ายการสารวัตร    หมายถึง สำนักงานที่จัดไว้สำหรับปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติของ นายทหารฝ่ายการสารวัตร
                      ๔.๓ นายทหารฝ่ายการสารวัตร    หมายถึง นายทหารสารวัตร ซึ่งเป็นฝ่ายกิจการพิเศษของหน่วยทหาร มีหน้าที่ วางแผน ประสานงาน กำกับการ และ/หรือ ควบคุมทางปฏิบัติแก่หน่วยทหารสารวัตร รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการสารวัตรทหาร ยกเว้น การสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม
                      ๔.๔ ฝ่ายการสืบสวนสอบสวน หมายถึง สำนักงานที่จัดไว้สำหรับปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติของ นายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวน
                      ๔.๕ นายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวน หมายถึง นายทหารสารวัตร ซึ่งเป็นฝ่ายกิจการพิเศษของหน่วยทหาร มีหน้าที่วางแผน ประสานงาน กำกับการ และดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมในกองทัพบก รวมทั้ง ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บังคับบัญชา และฝ่ายอำนวยการในเรื่องดังกล่าวด้วย
                      ๔.๖ นายทหารสืบสวนสอบสวน หมายถึง นายทหารเหล่าทหารสารวัตร ที่บรรจุตำแหน่งตามอัตราการจัดกำลังของหน่วยทหารต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมในกองทัพบก และให้หมายความรวมถึงนายทหารสารวัตรสืบสวนสอบสวนด้วย
                      ๔.๗ การรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ หมายถึง มาตราการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์กำลังพล ยุทธภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวก วัตถุ และเอกสารต่างๆ ให้พ้นจากการจารกรรม การก่อวินาศกรรม การโจรกรรม และการทำให้เสียชีวิตและทรัพย์สิน
                      ๔.๘ ทหารพลัดหน่วย   หมายถึง ทหารที่ไปจากหน่วยของตนโดยมิได้รับอนุญาตในขณะปฏิบัติการรบ ตามปกติแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ดังนี้
                           ๔.๘.๑ ประเภท ก. คือ ผู้ที่หลงทางและพยายามที่จะกลับหน่วย
                           ๔.๘.๒ ประเภท ข. คือ ผู้ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติการรบต่อไปได้ เนื่องจากเกิดอาการกลัว งงงัน หรือ ตกตลึง
                           ๔.๘.๓ ประเภท ค. คือ ผู้ซึ่งหลบหนีไปจากหน่วยโดยไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัด
                           ๔.๘.๔ ประเภท ง. คือ ผู้ซึ่งได้รับบาดเจ็บ
                      ๔.๙ พลเรือนผู้ถูกกักกัน หมายถึง พลเรือนที่เป็นชนชาติอื่น ที่ถูกกักกันไว้ระหว่างการพิพาทด้วยอาวุธ หรือการยึดครองทางทหารเพื่อเหตุแห่งความปลอดภัย หรือเพราะเหตุที่เป็นผู้กระทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาเจนีวา เกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒
                      ๔.๑๐ เชลยศึก หมายถึงบุคคลที่ระบุไว้ในข้อ ๔ ตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒
           ข้อ ๕ ขอบเขตแห่งหน้าที่และความรับผิดชอบ
                      ๕.๑ กรมการสารวัตรทหารบก มีหน้าที่ วางแผน ประสานงาน และกำกับการเกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัย การจับกุมทหารที่กระทำความผิด การเรือนจำ การจราจรในกิจการทหาร การรักษาความปลอดภัย การฝึกและศึกษาวิชาการเหล่าทหารสารวัตร การสืบสวนสอบสวนคดีอาญาซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหาร การป้องกันและวิจัยอาชญากรรมในกองทัพบก พิจารณาอำนวยการในยามสงคราม เกี่ยวกับทหารพลัดหน่วย เชลยศึก ชนชาติศัตรู และ ผู้ลี้ภัย
                      ๕.๒ หน่วยทหารสารวัตรส่วนภูมิภาค หมายถึง หน่วยทหารสารวัตรในอัตราการจัดของ มณฑลทหารบก จังหวัดทหารบก และจังหวัดทหารบกส่วนแยก มีหน้าที่เกี่ยวกับการสารวัตรทหารภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ การปฏิบัติการนอกเขตพื้นที่รับผิดชอบจะต้องประสานกับหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ก่อน โดยมีนายทหารฝ่ายการสารวัตร เป็นผู้วางแผน เสนอแนะ และกำกับการใช้หน่วยทหารสารวัตร
                      ๕.๓ หน่วยทหารสารวัตรส่วนกำลังรบ หมายถึง หน่วยทหารสารวัตรในอัตราการจัดของ กองทัพสนาม กองทัพน้อยและกองพล มีหน้าที่เกี่ยวกับการสารวัตรทหาร เฉพาะกำลังพลและกิจกรรมของหน่วยในสังกัดเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบเท่านั้น การปฏิบัติการภายนอกพื้นที่รับผิดชอบจะต้องประสานกับหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ก่อน โดยมีนายทหารฝ่ายการสารวัตร เป็นผู้วางแผน เสนอแนะ และกำกับการใช้หน่วยทหารสารวัตร
                      ๕.๔ หน่วยทหารสารวัตรอื่นๆ มีหน้าที่ทำนองเดียวกับข้อ ๕.๓ โดยอนุโลม

ตอนที่ ๒
การปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเรื่อง
           ข้อ ๖ การรักษาวินัย กฎหมาย และคำสั่ง สารวัตรทหาร มีหน้าที่สอดส่องตรวจตราให้ ทหาร ข้าราชการกลาโหมพลเรือนและลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้อยู่ในระเบียบวินัย ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี โดยปฏิบัติดังนี้
                       ๖.๑ การเลือกใช้มาตราการบังคับใดๆ ที่เหมาะสม
                       ๖.๒ การบังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนด เขตห้ามทหารเข้า
                       ๖.๓ การบังคับให้เป็นไปตามข้อห้ามหรือจำกัดเวลาออกนอกหน่วยในเวลาวิกาล
                       ๖.๔ การควบคุมอบายมุข เช่น โสเภณี การพนัน และยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น
                       ๖.๕ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
                       ๖.๖ การป้องกันและปราบปรามการค้าตลาดมืดเกี่ยวกับสิ่งอุปกรณ์ทางทหาร
                       ๖.๗ การปฏิบัติการใดๆ เพื่อร่วมมือ หรือช่วยเหลือเจ้าพนักงานฝ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งของผู้มีอำนาจสั่งใช้สารวัตรทหาร
                       ๖.๘ การสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรม โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
                       ๖.๙ การจัดตั้ง สายตรวจ จุดตรวจ สายตรวจร่วมหรือสายตรวจผสม ในการปฏิบัติการดังกล่าว ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ ให้ว่ากล่าวตักเตือน หากจำเป็นต้องจับกุม ให้กระทำโดยละม่อม โดยคำนึงถึงเกียรติของทหารและหลักการป้องกันยิ่งกว่าการจับกุมเป็นสำคัญ
                       ๖.๑๐ การรายงานความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดของผู้กระทำผิดทราบ เพื่อดำเนินการตามหน้าที่ โดยใช้ แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๓ ( รายงานข้อกล่าวหา ) หรือ แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๓๔ ( รายงานความผิดหรือเหตุที่เกิดขึ้น )
                           ๖.๑๐.๑ เมื่อสารวัตรทหารรายงานความผิด ตามความในข้อ ๖.๑๐ แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิด แจ้งผลการดำเนินการให้หน่วยที่รายงานทราบ โดยใช้แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๕ ( ใบแจ้งผลของผู้กระทำผิด )
                           ๖.๑๐.๒ หากกรณีเป็นที่แน่ชัดว่าผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดไม่แจ้งผลการดำเนินการให้ทราบ หรือได้ดำเนินการแล้ว แต่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือแบบธรรมเนียมทหารก็ดี ให้หน่วยที่รายงานเสนอแนะผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจตามลำดับชั้น เพื่อดำเนินการต่อไป
           ข้อ ๗ การสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๗.๑ เมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้นายทหารสืบสวนสอบสวนรีบทำการสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งของผู้มีอำนาจสั่งการสอบสวนอันชอบด้วยกฎหมายโดยมิชักช้า
                       ๗.๒ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดอยู่ต่างจังหวัด หรืออยู่ต่างท้องถิ่นกับผู้บังคับบัญชาและได้มากระทำความผิดในเขตพื้นที่ของมณฑลทหารบก จังหวัดทหารบก หรือจังหวัดทหารบกส่วนแยก ตามปกติเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิดเป็นผู้สั่งสอบสวน แต่ถ้าไม่สามารถจะกระทำได้ ให้ผู้บังคับบัญชาของทหารที่กระทำความผิดขอความร่วมมือจากผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบเขตพื้นที่นั้นๆ ขอนายทหารสืบสวนสอบสวนเพื่อแต่งตั้งให้ร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วยก้ได้
                       ๗.๓ ในการดำเนินการในข้อ ๗.๒ ถ้ามีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้กระทำผิ ดไว้เกินกว่า ๗ วัน ให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
                       ๗.๔ สำหรับกรณีอื่นๆ นอกจากข้อ ๗.๑ ให้ทำการสืบสวนสอบสวนได้ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งให้ทำการสืบสวนสอบสวนเป็นการเฉพาะเรื่อง
                       ๗.๕ ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน นอกจากจะต้องปฏิบัติตามวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ให้ปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้
                           ๗.๕.๑ เมื่อได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนสอบสวน จะต้องลงสารบบบัญชีดังต่อไปนี้
                                    ๗.๕.๑.๑ คดีอาญา ให้บันทึกลงในแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๕๒   (สารบบบัญชีการสอบสวนคดีอาญา)                                    
                                    ๗.๕.๑.๒ คดีทางวินัย ให้บันทึกลงในแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๕๓ (สารบบบัญชีการสอบสวนทางวินัย)
                                    ๗.๕.๑.๓ การสืบสวนข้อเท็จจริงให้บันทึกลงในแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๕๔ (สารบบบัญชีการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ)
                                    ๗.๕.๑.๔ ข้อหารือในด้านการสืบสวนสอบสวนและปัญหาข้อกฎหมาย ให้บันทึกลงในแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๕๕ (สารบบบัญชีนั่งฟังการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายพลเรือน)
                           ๗.๕.๒ ในการทำสำนวนสอบสวนให้ใช้แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๒ - ๐๐๑ ถึง ทบ.๑๐๒ - ๐๑๘ ประกอบกับแบบพิมพ์สาย สห.ที่เกี่ยวข้องตามระเบียบนี้ได้ตามความจำเป็น
                           ๗.๕.๓ ให้รีบปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนในทันทีที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา และในระหว่างที่รอคำสั่งดังกล่าวก็ดี หรือในกรณีที่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการไว้ก็ดี ให้นายทหารสืบสวนสอบสวน ปฏิบัติการใดๆ เท่าที่จำเป็นและไม่ขัดต่อกฎหมายไปพลางก่อนได้
                           ๗.๕.๔ ตามปกติเมื่อทำการสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ทำการสอบสวนรายงานผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจสั่งสอบสวน โดยผ่านนายทหารสืบสวนสอบสวน หรือผู้ทำการแทน สำหรับกรมการสารวัตรทหารบกให้รายงานผ่านเจ้ากรมการสารวัตรทหารบก ทั้งนี้เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งเป็นอย่างอื่น
                           ๗.๕.๕ รายงานผลการสอบสวนปกติให้ทำเป็น ๓ ฉบับ ต้นฉบับให้รายงานผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งสอบสวน สำเนาคู่ฉบับเก็บไว้ที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวน สำเนาหนึ่งฉบับส่งให้กรมการสารวัตรทหารบก ภายในวันที่ ๕ ของเดือนถัดไปจากเดือนที่รายงานผลการสอบสวน
                           ๗.๕.๖ ให้ฝ่ายการสืบสวนสอบสวน หรือฝ่ายการสารวัตรแล้วแต่กรณี รายงานสถิติผลงานของนายทหารสืบสวนสอบสวนในสังกัด ส่งถึงกรมการสารวัตรทหารบก ตามแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๕๗(รายงานสถิติผลงานของนายทหารสืบสวนสอบสวน) ทุกรอบ ๖ เดือนภายใน วันที่ ๑๕ ของเดือนมกราคม และ เดือนกรกฎาคม
                           ๗.๕.๗ เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนคดีใด ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนคดีอาญา หรือคดีทางวินัยก็ตาม ให้ผู้ที่ทำสอบสวนบันทึกประวัติและพฤติการณ์ที่กระทำความผิดไว้ในแบบพิมพ์ ทบ. ๑๐๔ - ๐๕๘(รายงานแผนประทุษกรรมและข้อมูลเพื่อการวิจัยอาชญากรรม) โดยทำเป็น ๒ ฉบับ ส่งให้ฝ่ายการสารวัตร ๑ ฉบับ อีก ๑ ฉบับ ส่งให้ กรมการสารวัตรทหารบก
           ข้อ ๘ การกำหนดมาตรการป้องกันอาชญากรรมให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๘.๑ ให้กรมการสารวัตรทหารบก หน่วยทหารตั้งแต่ระดับกองพล และจังหวัดทหารบก ขึ้นไปทุกหน่วย จัดทำโครงการป้องกันอาชญากรรมของกองทัพบกและของหน่วยแล้วแต่กรณีขึ้นเพื่อควบคุม ลดหรือขจัดช่องโอกาสของการกระทำความผิดของทหาร
                       ๘.๒ ให้นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่รับผิดชอบทางฝ่ายอำนวยการในเรื่องการจัดทำโครงการป้องกันอาชญากรรม โดยมีนายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวน เป็นผู้ช่วยในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
                       ๘.๓ ให้หน่วยจัดให้มีการสำรวจป้องกันอาชญากรรม และการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุอย่างต่อเนื่อง และให้มีการสำรวจประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ก่อนวันที่ ๓๑ พฤษภาคมของทุกปี ตามปกติให้เป็นหน้าที่ของนายทหารสืบสวนสอบสวนดำเนินการสำรวจ โดยอาจดำเนินการสำรวจตามลำพังหรือร่วมกับนายทหารสารวัตรและ/หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นก็ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในการกำกับการของนายทหารฝ่ายการสารวัตร เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งเป็นอย่างอื่น
                       ๘.๔ การสำรวจป้องกันอาชญากรรม อาจดำเนินการทั้งภายในและภายนอกหน่วยทหารได้ตามความจำเป็น แล้วรายงานผลการสำรวจ ตามคำชี้แจงกองทัพบก เรื่อง การจัดทำโครงการป้องกันอาชญากรรมในความรับผิดชอบของทหารสารวัตร ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๑๙ ต่อผู้บังคับบัญชาโดยผ่านนายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวน และนายทหารฝ่ายการสารวัตร ตามลำดับ
                       ๘.๕ การรายงานผลการสำรวจการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ ให้ใช้ แบบพิมพ์ ทบ. ๑๐๔ - ๐๕๐ (รายงานการสำรวจการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ) แล้วรายงานต่อ
ผู้บังคับบัญชา โดยผ่านนายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวน และนายทหารฝ่ายการสารวัตรตามลำดับ
                       ๘.๖ ให้นำผลการสำรวจป้องกันอาชญากรรม และการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุมาใช้เป็นมูลฐานในการกำหนดมาตรการป้องกันอาชญากรรมในกองทัพบก ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
                       ๘.๗ รายงานผลการสำรวจป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ ตามปกติให้ทำเป็น ๓ ฉบับ ต้นฉบับรายงานผู้บังคับบัญชา สำเนาคู่ฉบับเก็บไว้ที่หน่วยและสำเนาอีก ๑ ฉบับ ส่งให้กรมการสารวัตรทหารบก ภายในวันที่ ๑๐ ของเดือนถัดไป
           ข้อ ๙ การควบคุมการจราจรในกิจการทหาร ให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๙.๑ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่วางแผน เสนอแนะ และกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตรเกี่ยวกับการควบคุมการจราจรภายในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยรวมทั้งการประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจราจรทางทหาร เป็นไปโดยสะดวกและปลอดภัย
                       ๙.๒ แผนการควบคุมการจราจร ควรยึดถือหลักการดังนี้ต่อไปนี้
                           ๙.๒.๑ ประสานและสอดคล้องกับแผนการควบคุมการจราจร ของหน่วยเหนือ หน่วยข้างเคียง และหน่วยรอง รวมทั้งแผนการควบคุมการจราจรของฝ่ายพลเรือนด้วย
                           ๙.๒.๒ กำหนดมาตรการควบคุมเป็นการเฉพาะสำหรับยานพาหนะทางทหาร
                           ๙.๒.๓ แสดงเส้นทางที่อยู่ภายใต้มาตรการการควบคุม พร้อมด้วยรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง
                           ๙.๒.๔ จัดลำดับความเร่งด่วนสำหรับยานพาหนะหรือขบวนเดินทาง
                           ๙.๒.๕ให้ความร่วมมือและประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งกองบังคับการจราจรตามความจำเป็น
                           ๙.๒.๖ปฏิบัติการที่จำเป็นเพื่อขจัดลดหรือแก้ปัญหาติดขัด ทางจราจร
                           ๙.๒.๗ ให้ข่าวสารและคำแนะนำแก่ผู้ใช้ถนนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
                           ๙.๒.๘ อำนวยความสะดวกแก่การเคลื่อนย้ายหน่วย โดยเฉพาะหน่วยทางยุทธวิธี
                       ๙.๓ ให้สารวัตรทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรดำเนินการดังนี้
                           ๙.๓.๑ บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และคำสั่งที่เกี่ยวกับการจราจรซึ่งผู้มีอำนาจกำหนดไว้ ถ้าพบผู้ฝ่าฝืนก็ให้ว่ากล่าวตักเตือน หรือจับกุม แล้วแต่กรณี
                           ๙.๓.๒ สั่งการตามอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับการควบคุมการจราจรรวมทั้งการออกใบแจ้งความผิดจราจร (ทบ. ๑๐๔ - ๐๐๗) ด้วย
                           ๙.๓.๓ แก้ปัญหาติดขัดทางจราจรด้วยการปฏิบัติ ตามที่จำเป็น
                           ๙.๓.๔ ดำเนินการเกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจรโดย
                                    ๙.๓.๔.๑ จัดการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บเท่าที่สามารถจะทำได้ หรือส่งตัวไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหากจำเป็น ทั้งต้องจัดการพิทักษ์ทรัพย์สินของผู้เสียหายไว้
และควบคุมการจราจรเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
                                    ๙.๓.๔.๒ สอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ พลขับ และ/หรือผู้ขับขี่ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุนั้น และจดบันทึกพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้ง ยศ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ สถานที่ทำงาน ตลอดจนหมายเลขโทรศัพท์ ( ถ้ามี ) ของผู้ที่ให้ถ้อยคำไว้เพื่อการติดต่อ
                                    ๙.๓.๔.๓ หาร่องรอยหลักฐานต่างๆ ของสถานที่เกิดอุบัติเหตุให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และดำเนินการทำแผนที่สังเขปในสถานที่เกิดอุบัติเหตุ
                                    ๙.๓.๔.๔ ขจัดสิ่งกีดขวางเพื่อให้การจราจรไหลเวียนได้ตามปกติโดยเร็ว
                                    ๙.๓.๔.๕ รายละเอียดอุบัติเหตุการจราจร ให้บันทึกในแบบพิมพ์ ทบ. ๔๖๙ - ๗๐๒ (แบบรายงานอุบัติเหตุ) และ/หรือแบบพิมพ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัญชาหรือหน่วยที่เกี่ยวข้องทราบ
                       ๙.๔ ให้ทหารสารวัตรเป็นผู้จัดทำและติดตั้งเครื่องหมายควบคุมจราจร หรือเครื่องหมายชนิดชั่วคราวในพื้นที่รับผิดชอบได้ตามความจำเป็น ส่วนการจัดทำและติดตั้งเครื่องหมายควบคุมจราจรชนิดถาวรให้เป็นหน้าที่ของทหารช่างหรือฝ่ายยุทธโยธา ทั้งนี้ไม่รวมถึงเครื่องหมายที่เจ้าพนักงานจราจรฝ่ายพลเรือนติดตั้งไว้ตามกฎหมาย
                       ๙.๕ การควบคุมจราจรทางทหาร ให้สารวัตรทหารยึดถือตามบทบัญญัติและกฎที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร ข้อบังคับทหาร ว่าด้วยการใช้รถยนต์ทหาร รวมทั้งระเบียบและคำสั่งอื่นเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ทหารเป็นหลักถ้ากฎหมายและข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ให้ยึดถือหลักปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก และกฎหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลม
           ข้อ ๑๐ การอารักขาบุคคลสำคัญ ให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๑๐.๑ เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก มีหน้าที่รับผิดชอบในการ วางแผนประสานงาน และกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตร เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย หรืออารักขาบุคคลสำคัญในระดับกองทัพบก
                       ๑๐.๒ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่วางแผน ประสานงานเสนอแนะและกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตรเกี่ยวกับการจัดการรักษาความปลอดภัย หรืออารักขาบุคคลสำคัญ โดยมีนายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวนเป็นผู้ช่วย
                       ๑๐.๓ การกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ จะต้องจัดให้มีการป้องกันทางลึก โดยจัดแนวคุ้มกันไว้หลาย ๆ ขั้นตามความจำเป็น พร้อมทั้งจัดให้มีการควบคุมการสัญจรของบุคคลโดยกวดขันในเขตรักษาความปลอดภัยดังกล่าวด้วย
                       ๑๐.๔ จะต้องจัดให้มีระบบการติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางอาชญากรรมที่ทันต่อเหตุการณ์กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
                       ๑๐.๕ จะต้องจัดให้มีการกวดขันข่าวสารที่เกี่ยวกับกิจกรรมของบุคคลสำคัญที่อยู่ในความอารักขามิให้รั่วไหลไปสู่บุคคลผู้ไม่มีสิทธิรับทราบ
                       ๑๐.๖ ภายหลังจากการปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วแล้วทุกครั้ง ให้มีการถกแถลงถึงผลการปฏิบัติการโดยเน้นถึงผลดี ผลเสีย ข้อบกพร่องรวมทั้งข้อพึงระวังและข้อที่จะต้องแก้ไขในการปฏิบัติการครั้งต่อไป กับให้หัวหน้าชุดรายงานผลการปฏิบัติการเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บังคับบัญชาโดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถจะกระทำได้โดยให้รวมผลการถกแถลงดังกล่าวไว้ในรายงานด้วย
           ข้อ ๑๑ การรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ ให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๑๑.๑ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่วางแผน ประสานงานเสนอแนะกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตร เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุของหน่วยทหาร โดยมีนายทหารฝ่ายการสืบสวนสอบสวน เป็นผู้ช่วย
                       ๑๑.๒ ทุกหน่วยในกองทัพบก ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนกำลังรบจะต้องจัดให้มีการสำรวจการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุตามข้อ ๘.๓ โดยใช้แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๕๐ (รายงานการสำรวจการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ)
                       ๑๑.๓ เมื่อมีการกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุขี้นแล้วจะต้องจัดให้มีการตรวจตราซ่อมบำรุงและบังคับให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของมาตรการนั้นๆ โดยเคร่งครัด
                       ๑๑.๔ เมื่อมีการละเมิดการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุขี้นจะต้องรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อสั่งการสืบสวนสอบสวนให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงเพื่อแก้ไข
                       ๑๑.๕ ให้ร่วมมือและประสานงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ส่วนหลัง และการบรรเทาความเสียหายเป็นพื้นที่เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง -
                       ๑๑.๖ ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ตามที่ได้รับมอบหมาย
                       ๑๑.๗ ปฏิบัติการอื่นๆ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยทางวัตถุ
           ข้อ ๑๒ การเรือนจำทหาร ให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๑๒.๑ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่วางแผน ประสานงานเสนอแนะกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตรเกี่ยวกับปฏิบัติงานของเรือนจำทหารและที่ควบคุมที่จัดตั้งขี้นให้เป็นไปตามนโยบายของกองทัพบก
                       ๑๒.๒ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สารวัตรทหารจะต้อง
                           ๑๒.๒.๑ ให้ความยุติธรรมโดยเสมอหน้า และมีมนุษยธรรม
                           ๑๒.๒.๒ ดำรงความมุ่งหมายหลักที่จะดัดนิสัยผู้ต้องขังให้ประพฤติตนเป็นดีและสามารถกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ในราชการทหารหรือเป็นพลเมืองดีได้ต่อไป
                           ๑๒.๒.๓ ยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวกับเรือนจำทหารโดยเคร่งครัด
                           ๑๒.๒.๔ ให้ใช้แบบพิมพ์ต่อไปนี้ คือ
                                    ๑๒.๒.๔.๑ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๙ ทะเบียนคนต้องขังระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา
                                    ๑๒.๒.๔.๒ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๐ ทะเบียนนักโทษ
                                    ๑๒.๒.๔.๓ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๑ ทะเบียนคนต้องขัง(ทางวินัย)
                                    ๑๒.๒.๔.๔ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๒ ใบฝากผู้ต้องขังและรับคืน
                                    ๑๒.๒.๔.๕ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๓ ใบจ่ายผู้ต้องขังและส่งคืน
                                    ๑๒.๒.๔.๖ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๔ ใบรับฝากเงินผู้ต้องขัง
                                    ๑๒.๒.๔.๗ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๕ ใบรับฝากสิ่งของผู้ต้องขัง
                                    ๑๒.๒.๔.๘ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๖ บัญชีเสนอปล่อยนักโทษ
                                    ๑๒.๒.๔.๙ ทบ.๑๐๔-๐๑๗ บัตรอนุญาตลาสำหรับนักโทษ
                                    ๑๒.๒.๔.๑๐ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๘ บัตรอนุญาตพักการลงโทษ
                                    ๑๒.๒.๔.๑๑ ทบ.๑๐๔ - ๐๑๙ บัตรแสดงบริสุทธิ์
                                    ๑๒.๒.๔.๑๒ ทบ.๑๐๔ - ๐๒๐ แบบพิมพ์ลายนิ้วมือ
                           ๑๒.๒.๕ ให้ใช้แบบพิมพ์งบหน้าบัญชีพิจารณาตรวจสอบ การพระราชทานอภัยโทษ (อ.๑) บัญชีรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (อ.๒) และบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังย้ายเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย ได้ตามความจำเป็น
           ข้อ ๑๓ การปฏิบัติต่อเชลยศึก ให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๑๓.๑ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่วางแผน เสนอแนะ ประสานงานและกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตรเกี่ยวกับเชลยศึกในหน้าที่ของทหารสารวัตร
                       ๑๓.๒ ผู้บัญชาการกองพล อาจจัดตั้งตำบลรวบรวมเชลยศึก(ตชศ.) และ/หรือตำบลรวบรวมเชลยศึกหน้า (ตชศน.) ขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบได้เมื่อจำเป็น โดยให้อยู่ในความดูแลของทหารสารวัตรเพื่อรับตัว กักกัน ซักถาม และรอการส่งกลับต่อไป
                       ๑๓.๓ เมื่อหน่วยจับเชลยศึกได้ ให้รีบดำเนินการ
                           ๑๓.๓.๑ ปลดอาวุธ และค้นตัว เพื่อหาเอกสารและสิ่งของมีค่าทางทหาร แล้วจัดการติดแผ่นป้ายแสดงทรัพย์สิน (ทบ. ๑๐๔ - ๐๐๘) ไว้กับทรัพย์สินที่ยึดไว้ทุกชิ้น
                           ๑๓.๓.๒ ทำการซักถามเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้ข่าวสารทางยุทธวิธีขณะนั้น เท่านั้น
                           ๑๓.๓.๓ ใช้ป้ายผู้ถูกจับกุม (ทบ.๑๐๔ - ๐๔๕) ผูกคล้องคอเชลยศึกแต่ละคน พร้อมทั้งกรองรายการในป้ายให้ครบถ้วน
                           ๑๓.๓.๔ แยกเชลยศึกตามประเภท และเพศ ดังนี้ คือ นายทหาร นายสิบ พลทหาร ทหารหนีทัพ พลเรือน และลัทธิการเมือง เท่าที่สามารถทำได้ ดำรงการแยกเช่นนี้ตลอดสายการส่งกลับ
                           ๑๓.๓.๕ นำตัวเชลยศึกพร้อมด้วยสิ่งของที่ยึดได้ ส่งตำบลรวบรวมเชลยศึก ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของสารวัตรทหาร และให้สารวัตรทหารที่รับตัวเชลยศึก ออกใบรับสิ่งของมีค่าจากเชลยศึกเพื่อความปลอดภัย (ทบ.๑๐๔ - ๐๓๖) หรือใบรับเงินที่ยึดไว้จากเชลยศึก (ทบ.๑๐๔ - ๐๓๘) แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้นำส่งและเชลยศึกผู้เป็นเจ้าของไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหลักฐานการรับตัวเชลยศึกนั้นให้ทำหลักฐานเป็นหนังสือมีบัญชีรายชื่อเชลยศึกแนบไว้ โดยให้ผู้รับและผู้นำส่งลงนามรับรองไว้ก่อนดำเนินการอย่างอื่นต่อไป ให้ค้นตัวเชลยศึกทุกคนโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
                           ๑๓.๓.๖ จัดการรักษาพยาบาลเชลยศึกที่บาดเจ็บ หรือส่งกลับทางสายแพทย์ในโอกาสแรกเท่าที่สามารถจะทำได้ เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องซักถามเชลยศึกในระหว่างส่งกลับทางสายแพทย์แล้ว ให้กระทำ ณ ที่พยาบาลกองพล หรือโรงพยาบาลส่งกลับสำหรับเชลยศึก
                           ๑๓.๓.๗ เมื่อชุดซักถามเชลยศึกได้กระทำซักถามเชลยศึก ณ ตำบลรวบรวมเชลยศึกเสร็จแล้ว และหมดความจำเป็นที่จะซักถามต่อไป ให้รีบส่งกลับเชลยศึกไปกักกันไว้ ณ ที่ควบคุมเชลยศึก ( Prisoner of war cage ) หรือค่ายเชลยศึก (Prisoner of war camp) แล้วแต่กรณีโดยเร็ว
                           ๑๓.๓.๘ ตามปกติ ห้ามให้อาหารและบุหรี่แก่เชลยศึก จนกว่าชุดซักถามจะปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้ว
                           ๑๓.๓.๙ ในการส่งกลับเชลยศึก ตั้งแต่หน่วยในระดับกองพลขึ้นไป ตามปกติให้หน่วยเหนือจัดสารวัตรทหารไปรับจากหน่วยรอง โดยให้หน่วยรองมีหน้าที่รายงานความต้องการให้หน่วยเหนือทราบ
                           ๑๓.๓.๑๐ การดำเนินการต่อทรัพย์สิน เอกสาร หรืออาวุธที่ยึดได้จากเชลยศึกเพื่อประโยชน์ด้านข่าวกรองทางทหารนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการนั้น สารวัตรทหารมีหน้าที่ระวังป้องกันมิให้สิ่งของดังกล่าวที่อยู่ในความดูแลสูญหาย ถูกสับเปลี่ยน หรือถูกทำลาย
                           ๑๓.๓.๑๑ ระหว่างที่เชลยศึกอยู่ในความควบคุมของสารงวัตรทหาร จะต้องป้องกันมิให้ ทหาร หรือประชาชนทั่วไปที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ติดต่อสนทนา หรือแสดงความสนิทสนมกับเชลยศึกเป็นอันขาด
                           ๑๓.๓.๑๒ เมื่อมีความจำเป็น ผู้บังคับบัญชาทหารชั้นแม่ทัพ อาจจัดตั้งที่ควบคุมเชลยศึก ( Prisoner of war cage ) ขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของตน เพื่อกักกันเชลยศึกที่รับตัวมาซักถามชั่วคราว หรือเพื่อรอการส่งกลับต่อไปก็ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กองทัพบกจะสั่งเป็นอย่างอื่น
                           ๑๓.๓.๑๓ การจัดตั้งค่ายเชลยศึก (Prisoner of war camp) ค่ายเดียวหรือหลายค่าย รวมทั้งการจัดตั้งค่ายเชลยศึกย่อย (Prisoner of war branch camp) นั้น ให้เป็นไปตามที่
กองทัพบกจะกำหนด
                           ๑๓.๓.๑๔ การดำเนินกรรมวิธีต่อเชลยศึก ให้สารวัตรทหาร เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
                           ๑๓.๓.๑๕ เมื่อเชลยศึกหลบหนี ให้ผู้รับผิดชอบโดยตรง หรือผู้ที่พบเห็นรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทันที
                           ๑๓.๓.๑๖ การปฏิบัติต่อเชลยศึกโดยทั่วไปนอกจากที่กล่าวแล้ว ให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก ฉบับลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒ และระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก พ.ศ.๒๕๑๓ โดยเคร่งครัด
           ข้อ ๑๔ การปฏิบัติต่อพลเรือนผู้ถูกกักกัน
                       ๑๔.๑ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่ วางแผน เสนอแนะ ประสานงานและกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตรเกี่ยวกับพลเรือนผู้ถูกกักกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลและธุรการอื่นๆ ในหน้าที่ของทหารสารวัตร
                       ๑๔.๒ พลเรือนฝ่ายข้าศึกหรือชนชาติศัตรู ที่ถูกกักกันไว้เพื่อความปลอดภัยของทางราชการทหารนั้น ให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม ฉบับลงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๒
           ข้อ ๑๕ การควบคุมทหารพลัดหน่วย ให้ปฏิบัติดังนี้
                       ๑๕.๑ นายทหารฝ่ายการสารวัตร มีหน้าที่ วางแผน เสนอแนะ ประสานงานและกำกับการปฏิบัติของหน่วยทหารสารวัตร เกี่ยวกับการควบคุมทหารพลัดหน่วย ให้เป็นไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา
                       ๑๕.๒ ผู้บังคับหน่วยทหาร ตั้งแต่ชั้นผู้บัญชาการกองพลขึ้นไป อาจจัดตั้งตำบลควบคุมทหารพลัดหน่วย หรือสายตรวจทหารพลัดหน่วยขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ โดยจะให้ปฏิบัติร่วมกัน หรือแยกต่างหากจากตำบลควบคุมการจราจรก็ได้
                       ๑๕.๓ ตำบลรวบรวมทหารพลัดหน่วยที่จัดตั้งขึ้นตามข้อ ๑๕.๒ จะต้องเก็บรักษาหลักฐานเกี่ยวกับทหารพลัดหน่วยไว้ ดังต่อไปนี้ไว้ เพื่อรายงานให้หน่วยเหนือ หรือหน่วยที่เกี่ยวข้องทราบตลอดเวลา คือ
                           ๑๕.๓.๑ ยศ ชื่อ เครื่องหมาย และ สัญชาติ
                           ๑๕.๓.๒ หน่วยต้นสังกัด
                           ๑๕.๓.๓ ขณะพบตัวมีอาวุธหรือไม่ ให้ระบุประเภทและจำนวน
                           ๑๕.๓.๔ พบตัวที่ไหนและเมื่อใด
                           ๑๕.๓.๕ ได้เดินทางมาจากที่ใด
                           ๑๕.๓.๖ กำลังจะเดินทางไปที่ใด
                           ๑๕.๓.๗ เหตุผลที่ละทิ้งหน่วยของตนมา รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ และได้อยู่กับหน่วยของตนครั้งสุดท้ายเมื่อใด
                           ๑๕.๓.๘ การดำเนินการกับทหารพลัดหน่วยผู้นั้น เช่น ส่งกลับทางสายแพทย์ ส่งตัวคืนหน่วยต้นสังกัด เป็นต้น
                           ๑๕.๓.๙ ข่าวสารเพิ่มเติม ถ้ามี
                       ๑๕.๔ เมื่อได้ตัวทหารพลัดหน่วยมา และ ภายหลังจากที่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนจนทราบสาเหตุมีทหารพลัดหน่วยโดยแน่ชัดแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้
                           ๑๕.๔.๑ ถ้าปรากฏว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการรักษาความปลอดภัย ก็ให้ส่งตัวไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าวหรือรักษาความปลอดภัย เพื่อซักถามต่อไป
                           ๑๕.๔.๒ ทหารพลัดหน่วยประเภท ก. ให้แนะนำทางหรือ นำส่งตัวให้หน่วยต้นสังกัดทันที
                           ๑๕.๔.๓ ทหารพลัดหน่วยประเภท ข. ให้จัดการรักษาพยาบาลและส่งกลับทางสายแพทย์
                           ๑๕.๔.๔ ทหารพลัดหน่วยประเภท ค. ให้จัดเจ้าหน้าที่อารักขานำพาส่งตัวกลับหน่วยต้นสังกัด
                           ๑๕.๔.๕ ทหารพลัดหน่วยประเภท ง. ให้แนะนำและส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่ใกล้ที่สุดของสายส่งกลับสายแพทย์
                       ๑๕.๕ มาตราการที่ใช้ควบคุมทหารพลัดหน่วย อย่างน้อยให้รวมถึง
                           ๑๕.๕.๑ การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่ง
                           ๑๕.๕.๒ การใช้มาตราการป้องกัน และตอบโต้การแทรกซึม หรือปฏิบัติการของตัวแทนข้าศึกและพลรบนอกแบบ
                           ๑๕.๕.๓ การควบคุมเส้นทางอพยพหรือเคลื่อนย้าย หรือ การสัญจรที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการทางทหาร หรือที่กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจในพื้นที่รับผิดชอบ
                           ๑๕.๕.๔ การรักษาความปลอดภัยให้พ้นจาก การจารกรรม การก่อวินาศกรรม และการบ่อนทำลายของฝ่ายข้าศึก
                           ๑๕.๕.๕ การวางมาตราการต่างๆ เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการสัญจร การกำหนดเขตห้ามเข้า จุดตรวจ การปิดกั้นถนน ระบบบัตรผ่าน การออกนอกหน่วยที่พักในเวลากลางคืนและมาตราการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
           ข้อ ๑๖ การปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย
                       ๑๖.๑ การดำเนินการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย บุคคลพลัดถิ่น และพลเรือนชาวพื้นเมืองนั้น ตามปกติอยู่ในความรับผิดชอบทางฝ่ายอำนวยการ ของฝ่ายกิจการพลเรือน ( สธ.๕ ) ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งการให้สารวัตรทหารเข้าช่วยเหลือฝ่ายกิจการพลเรือนในเรื่องการเปิดดำเนินการค่ายกักกัน หรือสถานที่ตำบลรวบรวมผู้ลี้ภัย และการควบคุมการสัญจรของผู้ลี้ภัยก็ได้
                       ๑๖.๒ ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งการให้สารวัตรทหาร ไปปฏิบัติหน้าที่ ควบคุมชายแดนเพื่อจัดการรักษาความปลอดภัย ควบคุมเศรษฐกิจด้านพลเรือน การดำเนินการเกี่ยวกับภาษีและศุลกากร การจับกุมผู้กระทำความผิด ผู้หลบหนี และผู้ที่มีประโยชน์ทางด้านข่าวกรองก็ได้ ทั้งนี้ โดยลำพังหรือร่วมมือประสานงานกับเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องตามขอบเขตแห่งอำนาจกฏหมายที่มีอยู่
ตอนที่ ๓
สถานีทหารสารวัตร
           ข้อ ๑๗ การจัดตั้ง เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและเพื่อความสะดวกแก่การสั่งการและควบคุมการปฏิบัติแก่สารวัตรทหาร นายทหารฝ่ายการสารวัตร อาจเสนอแนะให้ผู้บังคับบัญชา สั่งจัดตั้งสถานีทหารสารวัตรขึ้นก็ได้
           ข้อ ๑๘ ตำแหน่งและหน้าที่ สารวัตรทหารปฏิบัติงาน ณฯ สถานีทหารสารวัตร โดยปกติมีตำแหน่งและหน้าที่ดังนี้
                       ๑๘.๑ หัวหน้าสถานีทหารสารวัตร ให้นายทหารฝ่ายการสารวัตร เป็นหัวหน้าสถานีทหารสารวัตร มีหน้าที่ กำกับการ ประสานงานทั่วไป และรับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานทั้งปวงของสถานี หน่วยใดที่มีตำแหน่งผู้ช่วยนายทหารฝ่ายการสารวัตร ให้ผู้ช่วยนายทหารฝ่ายการสารวัตรเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสถานีทหารสารวัตร หากไม่มีตำแหน่งดังกล่าว ให้แต่ตั้งนายทหารเหล่าทหารสารวัตรผู้อื่นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าสถานีทหารสารวัตรก็ได้
                       ๑๘.๒ นายทหารเวร เป็นผู้แทนของหัวหน้าสถานีทหารสารวัตร และประจำทำงาน ณ ที่ตั้งของสถานีทหารสารวัตร มีหน้าที่
                           ๑๘.๒.๑ อำนวยการและกำกับการปฏิบัติงานของสถานีทหารสารวัตรในระหว่างเวลาที่เข้าเวร
                           ๑๘.๒.๒ ออกคำสั่ง หรือคำแนะนำ ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีทหารสารวัตร
                           ๑๘.๒.๓ ตรวจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ประจำสถานีทหารสารวัตร
                           ๑๘.๒.๔ สั่งเจ้าหน้าที่ ประจำสถานีทหารสารวัตรผลัดหนุน ให้ปฏิบัติงานเมื่อจำเป็น
                           ๑๘.๒.๕ ตรวจสอบการปฏิบัติงานของสิบเวรอำนวยการ
                           ๑๘.๒.๖ วินิจฉัยสั่งการหรือแก้ปัญหาเมื่อมีเหตุสำคัญ
                           ๑๘.๒.๗ จัดทำและเสนอรายงานต่าง ๆ ตามหน้าที่
                       ๑๘.๓ นายสิบเวรอำนวยการ เป็นผู้กำกับการ และปฏิบัติงานของ สถานีทหารสารวัตรดังนี้
                           ๑๘.๓.๑ รับและบันทึกคำร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษ ตามแบบพิมพ์ ทบ. ๑๐๔ - ๐๐๓ (รายงานข้อกล่าวหา)
                           ๑๘.๓.๒ สอบปากคำขั้นต้นของผู้กระทำผิด ผู้ร้องทุกข์ผู้กล่าวโทษหรือพยาน เพื่อทราบข้อเท็จจริงสำหรับดำเนินการตามหน้าที่
                          ๑๘.๓.๓ ดำเนินกรรมวิธีทางธุรการเกี่ยวกับการค้นตัวควบคุมเลี้ยงดูหรือปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา
                           ๑๘.๓.๔ รับเก็บรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหา โดยใช้แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๖ (ใบรับทรัพย์สิน)
                           ๑๘.๓.๕ ปรึกษาและขอความคิดเห็นแพทย์ ในกรณีที่พบว่า ผู้ถูกกล่าวหาผู้ร้องทุกข์ผู้กล่าวโทษหรือพยาน มีร่างกายหรือจิตใจไม่สมประกอบ
                           ๑๘.๓.๖ รับผิดชอบดำเนินการ เกี่ยวกับบันทึกประจำวัน ตามแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๒ ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
                           ๑๘.๓.๗ รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับบันทึกหลักฐาน และรายงานต่างๆ ทางธุรการของสถานีทหารสารวัตร ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
                           ๑๘.๓.๘ ดำรงการติดต่อและอำนวยการปฏิบัติของสายตรวจ
                           ๑๘.๓.๙ ติดป้ายและเก็บรักษา พยานหลักฐาน หรือของกลางต่างๆ โดยใช้แบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔ - ๐๐๘ (แผ่นป้ายแสดงทรัพย์สิน)
                           ๑๘.๓.๑๐ รายงานเหตุการณ์สำคัญให้นายทหารเวรทราบ
                           ๑๘.๓.๑๑ อำนวยการ และประสานงาน ในการปฏิบัติงานของสายตรวจ และกิจกรรมสืบสวนสอบสวน ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ
                           ๑๘.๓.๑๒ สั่งผลัดหนุนให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในเมื่อนายทหารเวรไม่อยู่
                           ๑๘.๓.๑๓ ให้ข่าวสารต่างๆ แก่ทหารและประชาชนทั่วไป เฉพาะข่าวที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยได้
                           ๑๘.๓.๑๔ ให้บริการเกี่ยวกับ ทรัพย์สินหาย และได้คืน หรือประสานงานกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง
                       ๑๘.๔ เสมียนเวร มีหน้าที่ช่วยเหลือนายสิบอำนวยการเกี่ยวกับงานด้านธุรการของสถานีทหารสารวัตร ทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในการทำและเก็บรักษาบันทึกหลักฐานและแบบพิมพ์ต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายสิบเวรอำนวยการ
                       ๑๘.๕ นายสิบวิทยุ มีหน้าที่ทำการติดต่อทางวิทยุ บันทึก และเก็บรักษาหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้บันทึกแบบพิมพ์ ทบ.๑๐๔-๐๔๘ ( หลักฐานการใช้วิทยุของสารวัตรทหาร )
                       ๑๘.๖ หัวหน้าสายตรวจ ตามปกติปฏิบัติงาน อยู่ในความควบคุมของนายสิบเวรอำนวยการ มีหน้าที่
                           ๑๘.๖.๑ ตรวจตราสายตรวจ ทั้งก่อน ระหว่าง และเมื่อจะพ้นจากหน้าที่ ในเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพของเครื่องแบบ ยุทธภัณฑ์ และการปฏิบัติหน้าที่
                           ๑๘.๖.๒ สั่ง หรือแนะนำ เจ้าหน้าที่สายตรวจ ให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะต่างๆ
                           ๑๘.๖.๓ จัดสายตรวจไปประจำที่และไปผลัดเปลี่ยน
                           ๑๘.๖.๔ สอดส่องดูแลให้แน่ใจว่าสายตรวจได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยครบถ้วน
                           ๑๘.๖.๕ ตรวจเยี่ยมสถานที่และพื้นที่ต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตตรวจเพื่อศึกษาสถานการณ์และดำเนินการตามความจำเป็น
                           ๑๘.๖.๖ เสนอแนะให้แก้ไขคำสั่งสายตรวจ และพื้นที่ตรวจ
                           ๑๘.๖.๗ ประสานการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างสายตรวจกับนายสิบเวรอำนวยการ
                           ๑๘.๖.๘ สอดส่อง ดูแล ให้แน่ใจว่า สายตรวจที่พบ ได้รายงานเหตุการณ์ตามแบบพิมพ์ ทบ. ๑๐๔ - ๐๔๙ (รายงานของสายตรวจ) ครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่
                           ๑๘.๖.๙ ปฏิบัติหน้าที่พิเศษต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
                           ๑๘.๖.๑๐ ดำรงการติดต่อกับสารวัตรทหารต่างหน่วย และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยฝ่ายพลเรือนตามนโยบายที่กำหนดไว้
                       ๑๘.๗ ผู้ควบคุม มีหน้าที่ควบคุมผู้ถูกกล่าวหา มิให้หลบหนีและคอยดูแลเกี่ยวกับสวัสดิภาพต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหา และปฏิบัติงานธุรการที่เกี่ยวข้อง
                       ๑๘.๘ นายทหารสืบสวนสอบสวน ตามปกติมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงขั้นต้นเท่าที่จำเป็น เพื่อประกอบการรายงานตามที่นายทหารเวรสถานีทหารสารวัตรร้องขอ และมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้ทันทีเมื่อได้รับคำสั่งโดยตรงจากผู้บังคับบัญชา หรือในกรณีที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติประจำ
           ข้อ ๑๙ ระเบียบปฏิบัติงานของสถานีทหารสารวัตร เมื่อได้จัดตั้งสถานีทหารสารวัตรขึ้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจจัดตั้งสถานีทหารสารวัตรออกระเบียบปฏิบัติประจำ(รปจ.)เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับระเบียบ หรือคำสั่งของทางราชการ ซึ่งมีผลบังคับเป็นการประจำในเขตพื้นที่ได้โดยไม่ขัดแย้งกับระเบียบนี้

ตอนที่ ๔
ข้อกำหนดอื่นๆ
            ข้อ ๒๐ แบบพิมพ์เพื่อความเป็นระเบียบ และประสิทธิภาพ ของการปฏิบัติของสารวัตรทหารตามระเบียบนี้ ให้ใช้แบบพิมพ์และคำอธิบายวิธีใช้แบบพิมพ์ที่กำหนดไว้ในผนวกท้ายระเบียบนี้
            ข้อ ๒๑ ให้กรมการสารวัตรทหารบก เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจ
ออกระเบียบ หรือคำชี้แจงปลีกย่อยได้ตามความจำเป็น โดยไม่ขัดกับระเบียบนี้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙
(ลงชื่อ) พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก
( อาทิตย์ กำลังเอก )
ผู้บัญชาการทหารบก



2 ความคิดเห็น:

  1. พี่ครับรบกวนหน่อยถ้าไมลำบากพี่เกินไป ช่วยหาตำราหลักสูตร พลสาวัครที่มีหลักสูตรใหม่ๆ มาลงให้หน่อยครับ ผม สห.ภูธร ( น.ว.) ไม่ค่อยมีเงินเข้ามารับตำราเรียนที่ กรม สห.ครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับถ้าพี่จะกรุณา

    ตอบลบ
  2. ขอแบบฟอร์ม ทบ.๑๐๔ - ๐๐๙ หน่อยค่ะ

    ตอบลบ